การแห่ขันหมากเป็นหนึ่งในขั้นตอนพิธีตามประเพณีการแต่งงานของคนไทยในภาคกลาง โดยได้ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ โดยจะเริ่มหลังจากมีการทาบทามสู่ขอฝ่ายหญิงเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายชายจึงจะแห่ขันหมากมาเพื่อทำพิธีหมั้นกับฝ่ายหญิง และก็ไปสู่ขั้นตอนการรดน้ำ และส่งตัวบ่าวสาวเข้าสู่ห้องหอจึงจะถือว่าเป็นอันจบพิธี

ประเพณีการแห่ขันหมาก
ในขบวนขันหมากจำนำด้วย ขบวนดนตรีและการร่ายรำอย่างสนุกสนานของผู้ที่มาร่วมงาน และตามด้วยขันต่างๆ ดังนี้
ขันหมากหมั้น ประกอบด้วย
- ขันหมากเอก ที่บรรจุหมากพลู ที่ถือกันว่าเป็นของใช้ประจำบ้านของคนไทยในสมัยก่อน
- ขันหมากโท ที่บรรจุวัตถุมงคลทั้งหลายที่เกี่ยวข้องเช่น ข้าวเปลือก ถั่วงา ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ยอดและดอกของดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญงอกงาม ความรักและการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ขันของหมั้น ประกอบด้วย
ของหมั้นต่างๆ ที่บรรจุอยู่ภายในเช่น เงิน ทอง แก้ว แหวน เงินสดค่าสินสอด พานไหว้และของขวัญสำหรับพ่อและแม่ของฝ่ายหญิง
เมื่อขบวนแห่ขันหมากเดินทางมาถึงบ้านของฝ่ายหญิงแล้ว เพื่อนของฝ่ายหญิงจะเข้ามากั้นประตูเงินประตูทอง เพื่อกั้นขบวนขันหมากฝ่ายชายก็จะต้องเจรจาต่อรองค่าผ่านประตูเมื่อผ่านได้แล้วจึงจะเข้าสู่พิธีหมั้น และทำพิธีหมั้นตามประเพณีจึงจะถือได้ว่าการหมั้นเป็นอันจบสมบูรณ์