พิธีแต่งงานแบบล้านนาในสมัยปัจจุบัน

ในปัจจุบันพิธีแต่งงานแบบล้านนา ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงกันไปตามสมัย โดยมีการผสมผสานวัฒนธรรมการแต่งงานตามแบบภาคกลางเข้ามาด้วย การจัดพิธีแต่งงานนิยมจัดที่บ้านของฝ่ายหญิง อันเนื่องมาจากตามประเพณีธรรมเนียมของชาวล้านนานั้นนิมยมให้ฝ่ายชายไปอยู่กับผู้หญิงที่บ้านของพ่อแม่ฝ่ายหญิง ดังนั้นแล้วเมื่อรักใคร่ชอบพอกัน และฝ่ายชายได้ให้ผู้ใหญ่มาจาเทิง(จ๋าเติง) อันหมายถึงให้ผู้ใหญ่มาหมายหมั้นไว้แล้ว ฝ่ายชายก็จะไปหาฤกษ์งามยามดี เพื่อจัดพิธีการแต่งงาน โดยจะต้องเตรียมตัวอยู่หลายอย่างได้แก่

พิธีแต่งงานแบบล้านนาในสมัยปัจจุบัน

พิธีแต่งงานแบบล้านนาในสมัยปัจจุบัน

  1. เตรียมบ้านของฝ่ายหญิง ไม่ว่าจะเป็นที่นอน หมอน มุ้ง เตรียมห้องหอ โดยในอดีตนั้นหญิงสาวก็จะต้องทอผ้าขึ้นเพื่อทำเป็นสำลี (หมายถึงฟูกรองนอน) ทอผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม หมอน เตรียมเอาไว้ พอใกล้ถึงวันแต่งงานก็จะต้องมาตกแต่งบ้านให้สะอาดเรียบร้อย และประดับด้วยดอกไม้ต่างๆ
  2. ทำการบอกกล่าวให้คนในชุมชนมาร่วมงาน โดยพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้ออกไปเชิญแขกและคนรู้จักในฝ่ายของตนเองให้มาร่วมงาน โดยควรบอกล่วงหน้าอย่างน้อย 1 อาทิตย์
  3. การเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงแขก เป็นงานที่กลุ่มแม่บ้านจะต้องช่วยกันทำ
  4. สำหรับฝ่ายชายจะต้องเตรียมขบวนแห่ขันหมาก และเครื่องสำหรับประกอบพิธีแต่งงาน อันประกอบไปด้วย หีบผ้าใหม่ ถุงย่าม ดาบ ขันหมาก ขันไหว้ ต้นกล้วย ต้นอ้อย อย่างละ 1 คู่ด้วยกัน ขันสินสอด ขันหมั้นเตรียมในกรณีที่หมั้นพร้อมแต่ง สะลี หมอน มุ้ง ผ้าห่ม สิ่งของเหล่านี้จะต้องเตีรยมเอาไว้ให้เรียบร้อยเพื่อนำมาใช้ในวันแต่งงานโดยอาจจะมีการจัดขบวนแห่อย่างเอิกเกริก จากบ้านเจ้าบ่าวไปยังบ้านของเจ้าสาว
  5. ในเช้าวันแต่งงานทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ โดยพิธีการนี้จะต้องให้ปู่อาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธีให้ ส่วนเครื่องพลีกรรมในพิธี ก็อาจจะช่วยกันทำ หรือจะให้ปู่อาจารย์ผู้ประกอบพิธีเตรียมมาให้ก็ได้
    การขอเจ้าบ่าว(ขอเขย)

ในเช้าวันแต่งงาน เมื่อถึงเวลาตามกำหนดการทุกอย่างแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวจะไปขอเจ้าบ่าวหรือที่เรียกกันว่า “การขอเขย” โดยมีผู้ใหญ่ทางฝ่ายหญิงที่เป็นคนช่างเจรจาเป็นผู้นำคณะไปขอเจ้าบ่าวที่บ้านของเจ้าบ่าว

ในการขอเขยจะต้องเตรียมพานดอกไม้ธูปเทียนไปด้วย การพูดเชิญจะพูดด้วยถ้อยคำที่เป็นมงคล เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าบ่าวนำญาติสนิทมิตรสหาย และตัวของเจ้าบ่าวให้แห่ขันหมากไปยังบ้านของฝ่ายเจ้าสาวให้ทันตามกำหนดเวลาฤกษ์ โดยการขอเขยมักจะไปขอกับพ่อแม่ของเจ้าบ่าวโดยมีการกล่าวคำมงคลว่า “มาวันนี้ก็เพื่อมาขอเอาแก้วงามแสงดี มาไว้เป็นมงคลบ้านโน้น”

ส่วนทางพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะมีขันข้าวตอกดอกไม้และขันหมากมาเป็นเครื่องต้อนรับ และกล่าววาจาฝากเนื้อฝากตัวลูกชายของตนที่จะไปเป็นลูกเขยของบ้านฝ่ายเจ้าสาวว่า “ลูกชายข้าก็รักดั่งแก้วดั่งแสง จะร้ายดีอย่างใด ก็ขอได้ช่วยสั่งช่วยสอนเขาเทอะ” พิธีการขอเขยนี้ถ้าเจ้าบ่าวอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันกับฝ่ายเจ้าสาว ก็จะใช้วิธีการเดินเท้ากันไปเป็นขบวน แต่ถ้าอยู่กันคนละหมู่บ้านก็จะเปลี่ยนไปเป็นโดยสารรถยนต์ หรืออาจจะนำคณะไปพักกันอยู่ที่บ้านของญาติผู้ใหญ่ที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันกับฝ่ายเจ้าสาว
ขบวนขันหมาก

เมื่อถึงวันแต่งงาน เจ้าบ่าว และญาติพี่น้อง พร้อมกับทั้งแขกเหรื่อฝ่ายเจ้าบ่าวที่มาร่วมงานก็จะตั้งขบวนแห่ขันหมาก โดยมีเครื่องประกอบขบวนอันได้แก่ ขันดอกไม้นำหน้า ตามมาด้วยบายศรีที่อาจจะเตรียมมาตั้งแต่จากบ้านของเจ้าบ่าว หรือบ้านเจ้าสาวจะทำบายศรีเตรียมไว้เอง ก็อาจจะไม่ต้องนำมาแห่ในขบวน

ฝ่ายเจ้าบ่าวตอนจะมากับขบวนแห่จะต้องสะพายดาบเอาไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความเป็นชายชาตรี และตามด้วยขันหมากหมั้น หีบผ้า หน่อกล้วย หน่ออ้อย เป็นต้น โดยในขบวนจะมีกลองซิ้งม้องกับปี่แนตีบรรเลงเพลงเพื่อให้เกิดบรรยากาศครึกครื้น ในส่วนของแขกที่มาร่วมงานก็จะเดินอยู่ในขบวนขันหมาก ไปหาเจ้าสาวยังบริเวณที่ประกอบพิธี เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วทางฝ่ายเจ้าสาวจะทำการส่งตัวแทนไปเชิญชวนขบวนแห่ฝ่ายเจ้าบ่าวเข้ามาในบ้านของตน

เมื่อขบวนแห่เดินทางเข้ามายังที่ประกอบพิธีแล้ว เจ้าสาวจะออกมาต้อนรับเจ้าบ่าว แต่ก่อนที่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเข้าพบกับฝ่ายเจ้าสาวได้ก็ต้องมีการเจรจาเพื่อขอผ่านประตูเงินเสียก่อน ซึ่งเจ้าบ่าวก็จะต้องตอบคำถามและจ่ายเงินให้กับฝ่ายเจ้าสาวเพื่อให้คนกั้นประตูปล่อยให้เข้าไปพบกับเจ้าสาวได้ แต่ก็จะมาเจอกับประตูอีกชั้นหนึ่งเรียกว่าประตูทอง ก็จะเหมือนๆ กับประตูเงินคือต้องเจรจาตอบคำถามและจ่ายเงินจึงจะได้ผ่านประตูไปพบกับเจ้าสาว

โดยในการจะขอผ่านประตูเงินประตูทองนั้นก็จะต้องมีการเจรจากันไปมาในเบื้องต้น ต่อมาก็เป็นการต่อรองราคาจนกว่าจะตกลงเป็นอันที่พอใจของทั้งสองฝ่าย เจ้าบ่าวก็จะจ่ายเงินให้กับผู้กั้นประตู และผ่านไปยังประตูทอง หรือประตูคำต่อไปซึ่งในระหว่างนี้ก็จะมีการโห่ร้องหยอกล้อกันอย่างสนุกสนานตลอดทาง ซึ่งในสมัยก่อนนั้นในประตูชั้นสุดท้ายจะมีการล้างเท้าเจ้าบ่าวด้วย โดยจะมีเด็กๆ มาถือขันรดน้ำสำหรับรดลงที่เท้าของเจ้าบ่าว และเจ้าบ่าวก็ต้องมอบเงินรางวัลตอบแทนที่เด็กๆ ล้างเท้าให้
การเรียกขวัญและผูกข้อมือเจ้าบ่าว

เมื่อเจ้าบ่าวได้เดินผ่านประตูเงินประตูทองเข้ามาในพิธีแล้ว ลำดับขั้นต่อไปก็ให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้าไปไหว้พ่อแม่ของทั้งฝ่ายเจ้าสาวและพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าบ่าว จากนั้นพ่อแม่ของเจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จะพาไปส่งบริเวณสำหรับทำพิธี
โดยการนั่งจะให้ฝ่ายหญิงนั่งทางด้านซ้ายของฝ่ายชาย ส่วนฝ่ายชายนั่งทางขวาของฝ่ายหญิง แขกผู้ใหญ่ หรือพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย หรือปู่อาจารย์จะเป็นผู้สวมฝ้ายมงคลที่ศีรษะของทั้งสองคนโยงคู่กัน

จากนั้นปู่อาจารย์หรือผู้ประกอบพิธี จะเป็นผู้เรียกขวัญคู่บ่าวสาวให้รักกันอย่างยาวนาน เป็นภาษาล้านนาที่มีท่วงทำนองไพเราะและอ่อนหวาน ต่อมาปู่อาจารย์ก็จะทำการปัดเคราะห์ เพื่อให้ทั้งคู่อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขไม่มีโณคภัยหรืออุปสรรคใดในชีวิต  ญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาวก็จะนำด้ายมาผูกข้อมือให้กับทั้งคู่ ตามด้วยญาตผู้ใหญ่และพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าบ่าว หลังจากนั้นก็จะเป็นในส่วนของญาติสนิทมิตรสหายทั้งหลายองทั้งสองฝ่ายตามมา การผูกข้อมือนั้นจะมีการกล่าวคำอวยพรให้แก่เจ้าบ่าวเจ้าสาวด้วย เพื่อให้ทั้งสองรักกันนานๆ ให้ทั้งสองมีความเจริญก้าวหน้า ทำมาค้าขึ้น มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง

หลังจากนั้นจะมีการมอบซองเงินให้กับคู่บ่าวสาวโดยใส่ลงไปในขันสลุง ซึ่งปัจจุบันถ้าเป็นแขกผู้ใหญ่คู่บ่าวสาวก็จะมอบของไหว้ให้เพื่อเป็นการตอบแทน โดยของรับไหว้ก็จะได้แก่ ขันเงินขนาดเล็ก หรืออาจจะใช้เป็นของชำร่วยที่เตรียมเอาไว้ก็ได้ หลังจากนั้นปู่อาจารย์ก็จะเข้ามาถอดมงคลฝ้ายออกก็เป็นอันจบพิธี

การเรียกขวัญแต่งงานเปรียบเหมือนกรสร้างพลังและกำลังใจ ทั้งยังเป็นการเตือนสติให้ผู้ที่ได้รับการเรียกขวัญด้วยว่า ผู้รับเรียกขวัญกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิต กำลังจะเข้าสู่การใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง จึงต้องเตือนสติให้รู้ตัว รู้ว่าตัวเองกำลังจะเป็นผู้ครองเรือน เป็นพ่อเรือนแม่เรือนดังนั้นจึงต้องทำตนให้เหมาะสมกับชีวิต โดยความเชื่อของชาวล้านนานั้นเชื่อว่า คนเรานั้นมีขวัญอยู่ 32 ขวัญด้วยกัน อยู่ประจำตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเพื่อปกปักรักษาผู้เป็นเจ้าของขวัญให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วยและมีความสุข แต่ถ้าเกิดขวัญออกไปจากร่างกายแล้วก็จะทำให้เจ้าของขวัญเกิดการเจ็บป่วย มีทุกข์ หรืออาจจะเกิดผลไม่ดีต่างๆ ขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการทำพิธีเรียกขวัญ

ข้าวของเครื่องใช้ในการประกอบพิธีเรียกขวัญ

คำว่าบายศรี ชาวล้านนามักเรียกกันว่า ใบสี อันเนื่องมาจากมีการใช้ใบตองนำมาเย็บรวมกันเพื่อทำเป็นบายศรี บ้างก็มีเรียกกันว่า ขันบายศรี บางที่ก็เรียก ขันปอกมือ หรือ ขันผูกมือ อันเนื่องมาจากเป็นเครื่องประกอบพิธีเรียกขวัญและมัดมือ โดยขันบายศรีจะใช้เป็นขันเงิน หรือพานเงิน พานทองเหลืองก็ได้ ส่วนขันซี่ซึงเป็นพานที่กลึงด้วยไม้เนื้อแข็ง และทารักทาชาด ก็ให้ใช้ใบตองมาพับปลายให้เรียวแหลม หลายอันแล้วนำมาซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ ซึ่งจะกี่ชั้นก็ได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องให้เป็นจำนวนคู่ โดยที่นิยมทำกันจะเป็นนมแมว 7 ชั้น 9 ชั้น โดยแถบนมแมวทั้งหมดให้ทำเป็น 4 มุมที่เรียกกันว่าสี่แจ่งนมแมว แต่บางแห่งก็ทำเป็น 6 มุม 8 มุม วางเรียงซ้อนกันอยู่บนพานและมีขันสลุงรองรับอยู่บนพานด้วย ตามด้วยการประดับดอกไม้ต่างๆ อย่างงดงาม ในส่วนของปลายยอดของบายศรีจะทำการผูกด้วยด้ายดิบโดยผูกโยงกันต่อเนื่องกันไปในแต่ละยอด และเหลือเอาไว้ช่องหนึ่ง เป็นการเปิดช่องเอาไว้เพื่อเป็นทางให้ขวัญเข้ามากินอาหารในขันบายศรีได้

อาหารที่ใช้ในการรับขวัญที่ใส่ลงไปในขันบายศรีได้แก่ ข้าวเหนียวสุก ไข่ต้ม ชิ้นปิ้ง ปลาปิ้ง ข้าวแตน กล้วยน้ำหว้าสุก หมากพลู เหมี้ยง ทั้งหมดจำนวนอย่างละ 1 คู่ บายศรีสำหรับงานแต่งงานนั้นส่วนใหญ่แล้วนิยมทำบายศรีนมแมวเพียงชั้นเดียว และอาจจะทำซ้อนชั้นด้วยพานรองรับขนาดต่างๆ กัน แต่ก็จะไม่ให้เกิน 3 ชั้น

ขันตั้งบายศรี

เป็นเครื่องบูชาครู ที่ทางล้านนาเรียกกันว่าขันตั้ง ซึ่งก็คือของใช้สำหรับนำมาบูชาครูหรือยกครู ในเวลาประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยในขันตั้งนั้นจะมีของบูชาครูอันประกอบไปด้วย

  1. ข้างเปลือก และข้าวสารจำนวนอย่างละ 1 กระทง
  2. ผ้าขาว และผ้าแดงจำนวนอย่างละ 1 ผืน แต่ละผืนมีความยาวประมาณ 1 วา
  3. สวยหมาก สวยพลูจำนวนอย่างละ 8 สวย
  4. สวยดอกไม้ ธูปเทียนจำนวนอย่างละ 8 สวย
  5. หมากแห้งจำนวน 1 หัว
  6. เงินบูชาครูจำนวน 56 บาท
  7. น้ำขมิ้นส้มป่อยจำนวน 1 ขันเล็ก

ของทั้งหมดที่จัดเตรียมเอาไว้นี้ให้ใส่ลงไปรวมกันไว้ในพาน หรือในถาดก่อนที่จะเอามาทำพิธีเรียกขวัญ โดยปู่อาจารย์จะทำการยกขึ้นขันตั้งก่อน จึงจะเริ่มทำพิธีเรียกขวัญต่อไป พิธีนี้ในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมทำกันเท่าไหร่ หลังจากเสร็จพิธีเรียกขวัญแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะทำการมอบปัจจัยบูชาครูตามแต่สมควร

การส่งตัวเข้าหอ

ห่อนที่จะส่งตัวเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้าห้องหอ ก็จะมีการมัดมือเจ้าบ่าวและเจ้าสาวติดกันก่อน โดยมีพ่อ แม่ หรือบุคคลที่คู่บ่าวสาวให้ความเคารพนับถือ เป็นคนจูงคู่บ่าวสาวเข้าห้องหอ โดยจะต้องนำบายศรีเดินนำหน้า ตามด้วยน้ำบ่อแก้ว ซึ่งก็คือสลุงที่ใส่เงินของผู้ที่มาร่วมงานเอาไว้เพื่ออบให้กับคู่บ่าวสาวตอนมัดมือ การจูงเข้าห้องหอนั้นจะให้ญาติของฝ่ายเจ้าสาวจูงมือเจ้าสาว ส่วนญาติของฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะจูงมือเจ้าบ่าวขึ้นบนเตียงนอนที่มีกลีบดอกไม้ต่างๆ โปรยเอาไว้

จากนั้นพ่อแม่หรือผูใหญ่ที่แต่งงานมาครั้งเดียว และอยู่ด้วยกันมาอย่างยาวนาน มีความเจริญก้าวหน้าดี จะเป็นผู้นอนลงบนเตียงเป็นตัวอย่าง จากนั้นก็ทั้งคู่บ่าวสาวนอนด้วยกันพอเป็นพิธี เมื่อเสร็จแล้วก็จะมีการให้โอวาทในการครองเรือน สอนบ่าว สอนสาว เพื่อให้เป็นคู่สามีภรรยาที่ดี รักใครกลมเกลียวกัน อยู่ด้วยกันตลอดชีวิต มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง ให้ผู้ชายเป็นคนหาเงินหาทอง ส่วนฝ่ายหญิงเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สมบัติ


Top
error: