เมื่อเอ่ยถึงงานแต่งงานแล้วหลายคนคงนึกถึงงานเลี้ยงใหญ่โต มีแขกมาร่วมงานมากมาย และกว่าจะจัดงานขึ้นมาได้ก็ยุ่งยาก ดังนั้นวันนี้เรามาดูวิธีการจัดงานแต่งงานที่ถูกต้องครบถ้วนตามประเพณีของไทย แต่ประหยัดงบในการจัดกันครับ
พิธีการแต่งงานแบบไทย
การแต่งงานถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวของคนเราตามขนบธรรมเนียมประเพณี รวมไปถึงตัวบทกฎหมายของสังคมด้วย ซึ่งงานแต่งงานจะจัดอย่างไรก็มักจะเปลี่ยนแปลงกันไปตามยุคตามสมัย จึงทำให้พิธีแต่งงานมีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างมากมายตามคตินิยมของคนในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งสมัยนี้การแต่งงานนั้น คู่บ่าวสาวมักจะคำนึงถึงความถูกต้องตามประเพณี รวมไปถึงต้องมีความเรียบง่าย ครบถ้วนแต่ประหยัด เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในสมัยปัจจุบันดังนี้
เริ่มแรกด้วยการสู่ขอ เป็นขั้นตอนในเบื้องต้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องของความเป็นสิริมงคลของคู่บ่าวสาวที่กำลังจะเป็นสามีภรรยากัน และยังเป็นการให้เกียรติแก่ฝ่ายหญิงด้วยการสู่ขอ โดยจะประกอบไปด้วยขั้นตอนหลัก 2 ขั้นตอนด้วยกันคือ การทาบทาม และ การสู่ขอ โดยเริ่มต้นทางฝ่ายชายจะจัดผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือกันมาเป็น “เฒ่าแก่” เพื่อไปทาบทามกับผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง และเมื่อทางผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงไม่ขัดข้องแล้วก็จะมีการตกลงเกี่ยวกับสินสอดทองหมั้น และกำหนดวันเวลาที่ทางฝ่ายชายจะเข้ามาสู่ขอกันต่อไป ในส่วนของการสู่ขอนั้นเป็นพิธีการที่จะยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายได้ยอมรับข้อตกลงกันแล้ว พร้อมกับหารือในเรื่องของพิธีหมั้น พิธีแต่งงาน หรือการหาฤกษ์ยามกันต่อไป
พิธีหมั้น เป็นพิธีที่ฝ่ายชายจะมอบสิ่งของให้กับฝ่ายหญิง เพื่อเป็นการแสดงถึงการหมั้นหมายว่าจะแต่งงานด้วย โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้แหวนเป็นของหมั้น และในการทำพิธีหมั้นนั้นก็อาจจะมีเพียงแค่ ฝ่ายชายสวมแหวนหมั้นให้กับฝ่ายหญิงต่อหน้าเฒ่าแก่ และญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายที่มาเป็นสักขีพยานในการหมั้น หลังจากหมั้นกันเสร็จก็อาจจะมีการเลี้ยงอาหารเล็กน้อยก็จะเป็นอันเสร็จพิธี แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายนั้นอาจจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วก็อาจจะข้ามไปยังการแต่งงานและการจดทะเบียนสมรสเลยก็ได้
การจัดพิธีการแต่งงานในสมัยก่อนนั้นมักนิยมจัดกัน 2 วันแต่เดี๋ยวนี้การจัดงานแต่งงานมักจะจัดให้เสร็จภายในวันเดียวกันไปเลย ซึ่งวิธีที่ช่วยให้จัดงานแต่างงานได้อย่างประหยัดนั้นมีอยู่ 3 วิธีด้วยกัน
วิธีที่ 1
ทางฝ่ายเจ้าบ่าวจัดขบวนขันหมากเดินทางไปยังบ้านของเจ้าสาว พร้อมกับร่วมทำบุญตักบาตรกัน จากนั้นก็จดทะเบียนสมรสในช่วงเวลาเช้า ส่วนในช่วงเวลาบ่ายก็จะเป็นการทำพิธีรดน้ำสังข์และจัดเลี้ยงอาหาร ซึ่งอาหารที่นำมาจัดเลี้ยงให้แขกนั้นจะเป็นอาหารว่างหรืออาหารเย้นก็ได้ตามแต่เวลาและความสะดวกที่เหมาะสม เมื่อเวลาเดินมาถึงช่วงค่ำก็ต่อด้วยพิธีการส่งตัวเจ้าสาว โดยให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือทำพิธีปูที่นอนและให้โอวาทเพื่ออวยพรให้แก่คู่บ่าวสาวก็เป็นอันเสร็จพิธี
วิธีที่ 2
คู่บ่าวสาวร่วมกันจัดถวายสังฆทาน และร่วมกันตักบาตรยามเช้า หลังจากนั้นก็จะมีพิธีรดน้ำหรือผูกข้อมือ และจบด้วยการจดทะเบียนสมรส โดยในขั้นตอนนี้จะมีเพียงญาติผู้ใหญ่ของคู่บ่าวสาวที่เข้ามาร่วมทำพิธีเท่านั้น หลังจากนั้นในช่วงเที่ยงก็จะเป็นการจัดเลี้ยงอาหาร ซึ่งจะจัดในหรือนอกสถานที่ก็ได้แล้วแต่สะดวก ส่วนการส่งตัวจะเป็นการจัดภายในสถานที่เท่านั้น ก็จะเป็นอันจบพิธี
วิธีที่ 3
ในช่วงเวลาเช้าเจ้าบ่าวและเจ้าสาวร่วมกันตักบาตรและถวายสังฆทานที่หน้าบ้านหรือที่วัด จากนั้นก็ต่อด้วยการรดน้ำหรือผู้ข้อมือโดยผู้ที่จะมาร่วมพิธีก็ประกอบด้วยบิดามารดาของคู่บ่าวสาวรวมไปถึงญาติผู้ใหญ่ที่สนิทใกล้ชิดกัน หลังจากรดน้ำเสร็จแล้วก็ตามด้วยการจดทะเบียนสมรส เพียงเท่านี้ก็จะถือว่าจบพิธี และหากต้องการให้กระชับมากที่สุดก็อาจจะทำเพียงการตักบาตร และต่อด้วยการจดทะเบียนสมรสเลยก็ได้
ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีที่ช่วยให้ทั้งประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และงานก็ได้ครบองค์ประกอบหลักๆ ตามประเพณีด้วยนะครับ สะดวกวิธีไหนก็เอาวิธีนั้นไปใช้กันได้เลย หรือจะเอาไปประยุกต์กับงานของตัวเองก็ได้